หลักการและเหตุผล :

ในปัจจุบันโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease: CKD) เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ดังนั้นสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการวิจัยในระดับประเทศใน 10 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (Thai SEEK study: Screening and Early Evaluation of Kidney Disease study) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2551 และรายงานความชุกของโรคไตเรื้อรังที่ 17.5% ของประชากรทั้งหมด  โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังเมื่อเริ่มเป็นนั้น จะไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน แต่จะมีอาการก็ต่อเมื่อเป็นโรคมากแล้ว จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยที่เดินทางมาพบแพทย์ส่วนใหญ่มาด้วยอาการของโรคไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง และโรคไตเรื้อรังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุของโรคไตเรื้อรังนั้น แต่เดิมพบว่ามีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบเรื้อรัง (chronic glomerulonephritis)มากที่สุด ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคไตที่เข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (diabetic kidney disease) มากที่สุดประมาณร้อยละ 40 รองลงมาเป็นโรคไตจากความดันโลหิตสูง (hypertensive nephrosclerosis) ร้อยละ 23.3 (มนัชญา เสรีวิวัฒนา, ยุพาวรรณ ทองตะนุนาม และสุดาวรรณ์ ลิ่มอักขรา, 2561) นอกจากนี้การเกิดโรคไตเรื้อรังยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของบุคคล เช่น การรับประทานอาหารรสจัด การดื่มน้ำน้อย เป็นต้น ดังนั้นปัญหาโรคไตเรื้อรัง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข ซึ่งการที่จะป้องกันการเกิดโรคนั้นจำเป็นต้องอาศัยการดูแลตนเองของแต่ละบุคคล

จากแนวคิดการจัดการด้วยตนเองของ Kanfer and Gaelick (1986) เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาทางสังคม (Social Cognitive Theory) โดยแนวคิดการจัดการด้วยตนเองเป็นแนวคิดที่เน้นการมีส่วนร่วมของบุคคลในทุกกระบวนการโดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าการที่บุคคลจะปฏิบัติพฤติกรรมใด ๆ ต้องเกิดจากกระบวนการตัดสินใจ ประเมินผลดีผลเสียของการปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ ด้วยตนเอง มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะเมื่อประเมินและตัดสินใจแล้วว่าพฤติกรรมนั้น ๆ มีคุณค่าก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิตและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (Coates & Boore, 1995 cite in Kangchai, 2002)การส่งเสริมการจัดการด้วยตนเองรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คือรูปแบบการกำกับตนเอง (Self – regulation Model) ซึ่งกลวิธีการกำกับตนเองของ Kanfer and Gaelick (1986) เป็นรูปแบบหนึ่งของการกำกับตนเอง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) การติดตามตนเอง 2) การประเมินผลิตนเองและ3) การเสริมแรงตนเอง (สุจิตรา บุญประสิทธิ์, สิริลักษณ์ โสมานุสรณ์ และชมนาด สุ่มเงิน, 2559)

จากการทบทวนวรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีผู้นำแนวคิดการจัดการด้วยตนเองและกลวิธีการกำกับตนเองของ Kanfer and Gaelick (1986) ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการดูแลในผู้ใหญ่ที่มีภาวะอ้วน ดังตัวอย่างการศึกษาของ Pettman et al. (2008) ที่ศึกษาถึงการจัดการด้วยตนเองและการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะอ้วน พบว่ากลุ่มทดลองมีการบันทึกและการออกกำลังกายใน 1 สัปดาห์ได้อย่างครบถ้วนมีการเข้าร่วมกลุ่มร้อยละ 77 และเข้าร่วมกิจกรรมร้อยละ 66 สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ โดยพบว่ากลุ่มทดลองมีการรับรู้ประโยชน์ของการอ่านฉลากอาหารตามท้องตลาดและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประกอบอาหารรวมถึงการได้เรียนรู้การออกู้กำลังกายที่สามารถเลือกปฏิบัติได้ที่บ้าน โดยการใช้เทคนิคในการจัดการด้วยตนเองสามารถช่วยลดปัญหาและช่วยให้บรรลุผลลัพธ์ระยะสั้นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การมีกลุ่มเพื่อนมาเป็นแรงสนับสนุนสามารถช่วยให้บรรลุผลลัพธ์ที่สูงขึ้น

และจากแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเป็นโมเดลแรก ๆ ที่พัฒนามาจากพฤติกรรมศาสตร์เพื่อที่จะศึกษาปัญหาสุขภาพ โดยมีสมมติฐานว่า เมื่อบุคคลเกิดความกลัว รับรู้ภาวะคุกคามที่จะถึงตัว บุคคลจะปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคและจัดการกับปัญหาโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับโครงสร้างของ HBM มี 4 องค์ประกอบ คือ 1) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค (Perceived Susceptibility) เป็นความคิดความเชื่อของบุคคลว่าตนมีโอกาสที่จะเกิดโรคนั้น ๆ 2) การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived Severity) 3) การรับรู้ประโยชน์ที่จะได้รับเป็นความคิด ความเชื่อว่าการกระทำตามที่รับคำแนะนำ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ลดความเสี่ยง 4) การรับรู้อุปสรรค/ค่าใช้จ่าย เป็นความคิด ความเชื่อว่าการกระทำตามที่ได้รับคำแนะนำ นั้นเป็นสิ่งยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายทำได้ยาก ฯลฯ

จากการศึกษาของ อริญชยา สุนทรธัย ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม เพื่อส่งเสริมการมารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีในเขตสถานีอนามัย อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์  พบว่าหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีการรับรู้แรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มมากขึ้นจากก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทาระดับ 0.05 และสตรีกลุ่มตัวอย่างมารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคิดเป็นร้อยละ 100.0 (อริญชยา สุนทรธัย, 2554)

ในยุคปัจจุบันมีการเลือกใช้ Digital health media มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องการทำงาน การจัดการกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยการดูแลสุขภาพของประชาชน หน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทในการจัดระบบดูแลสุขภาพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข จึงใช้เทคโนโลยีที่เป็นกลไกขับเคลื่อน Health 4.0 ได้แก่ Social Webs and Network , Mobile Application , Internet of Things , Cloud Computing , Big Data and Health Analytics , Robotics และArtificial Intelligences (วรรษา เปาอินทร์ ,2560) และจากวิจัยของจันทิรา แซ่เตี่ยว เรื่องพฤติกรรมการเลือกใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสำหรับวัยกลางคน ค้นพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 400 คน ในหนึ่งวันใช้แอปพลิเคชั่นประมาณ 6-16 ครั้ง และระยะเวลาในการใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ท

โฟน พบว่าอยู่ที่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงถึง 5 ชั่วโมง (จันทิรา แซ่เตี่ยว, 2559) ซึ่งจากงานวิจัยทำให้เห็นว่าการใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในคนรุ่นใหม่มีการใช้เป็นอย่างมากและแพร่หลาย ที่สามารถทำให้เข้าถึงผู้รับบริการได้ง่าย และสะดวกสบายกว่าวิธีอื่น ๆ

          จากการสืบค้นและทบทวนแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไตเรื้อรังทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ พบว่า เนื้อหาภายในแอปพลิเคชั่นมีมากจนเกินไป ไม่เฉพาะเจาะจงต่ออาการที่ผู้ป่วยเป็น ณ ขณะนั้น ไม่น่าดึงดูดความสนใจ ใช้ภาษาทางการแพทย์ แอปพลิเคชั่นของต่างประเทศมีความยากต่อความเข้าใจสำหรับคนไทยทั่วไป บางแอปพลิเคชั่นไม่สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ บางแอปพลิเคชั่นต้องใช้ USER ที่ได้จากโรงพยาบาลเท่านั้น กลุ่มผู้จัดทำจึงได้คิดค้นเกี่ยวกับการทำ Mobile Application ที่เกี่ยวกับการบันทึก ติดตาม ดูแลจัดการโรคเรื้อรังของตนเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง ซึ่งระบบจะประมวลผลวิธีการจัดการกับอาการของผู้ใช้งานขณะนั้นและจะจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับอย่างดี

จากผลการสำรวจความต้องการการใช้แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับสุขภาพในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์แพทย์วัดหนองแวงพระอารามหลวง และชุมชนบ้านโนนม่วงจำนวน 30 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android และมีผู้ที่สนใจแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการบันทึกและติดตามสุขภาพร้อยละ 90 และร้อยละ 86 คิดว่าแอปพลิเคชั่นจะช่วยในการดูแลสุขภาพให้ดีมากขึ้น และจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง พบว่าส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีจัดการเพื่อป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การคิดค้นเครื่องมือที่ช่วยในการบันทึก ติดตาม ดูแลและจัดการภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง ผ่าน  Mobile Application ซึ่งใช้กรอบแนวคิดการจัดการด้วยตนเองและทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ชื่อแอปพลิเคชั่นว่า “Smart kidney” โดยแอปพลิเคชั่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการบันทึก ติดตาม และการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับจัดการภาวะสุขภาพนั้นๆ แก่ผู้ที่สนใจที่มีสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android เพื่อชะลอความเสื่อมของโรคเบาหวานหรือความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนความสุขในชีวิตของผู้ป่วย

วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้าง Mobile Application ที่เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้ผู้ที่สนใจได้ใช้ในการบันทึก ติดตาม ดูแลจัดการโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตของตนเอง เพื่อชะลอความเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง