หลักการและเหตุผล

ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 3-5 ปีของไทยในปี พ.ศ.2560 มีจำนวน 2,268,362 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ได้รับการศึกษาจำนวน 2,688,795 คน คิดเป็นอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบ ร้อยละ 118.5 โดยแบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 868,152 คน คิดเป็นอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบ ร้อยละ 38.3 และชั้นเด็กเล็ก จำนวน 1,820,644 คน คิดเป็นอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบ ร้อยละ 80.3และยังพบว่า แนวโน้มอัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบของระดับประถมศึกษาที่รวมศูนย์พัฒนาเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 ต่อปี (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2561)

จากข้อมูลดังกล่าวและสภาพสังคมไทยในปัจจุบันความต้องการพาบุตรหลานมารับบริการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการขยายตัวของครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคมและโครงสร้างครอบครัวไทยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ผู้ปกครองต้องทำงานหารายได้ ไม่สามารถหยุดทำงาน เพื่อดูแลบุตรได้ รวมถึงความคาดหวังของผู้ปกครองต่อพัฒนาการรอบด้านของเด็ก ทำให้พ่อแม่ และผู้ปกครองส่วนมาก ตัดสินใจพาลูกมารับบริการที่สถานเลี้ยงเด็ก เพราะเชื่อมั่นว่าสถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการของบุตรได้อย่างสมวัย (จงจิตต์ ฤทธริงค์, สภุรต์ จรสัสทิธิ์, และธีรนงค์ สกุลศรี, 2559) 

ขณะที่มารับบริการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผู้ปกครองต้องการทราบเกี่ยวกับกิจกรรม พฤติกรรมขณะอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อีกทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างครอบครัวและโรงเรียนถือเป็นตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล มีผลต่อเด็กทำให้เด็กมีทัศนคติทางบวกเกี่ยวกับโรงเรียน มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในโรงเรียนมากขึ้น ให้เวลาและความสนใจในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือกิจกรรมในชั้นเรียน และยังส่งผลต่อความรับผิดชอบในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ปกครองจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยให้ความพึงพอใจในภาพรวมของระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น และเพิ่มความนับถือในประสิทธิภาพของผู้ปกครองมากขึ้น สำหรับผลต่อครูผู้ดูแลเด็ก คือ เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครองมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากผู้ปกครอง มีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นในการเรียนรู้ของผู้เรียน และเพิ่มความสามารถในการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน (เอื้ออารี (ทองแก้ว) จันทร, 2558)

วิธีการสื่อสารระหว่างศูนย์เด็กเล็กกับผู้ปกครองสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ข่าวสาร จดหมายแจ้ง สมุดสื่อสาร สมุดรายงานการเรียน การประชุม การโทรศัพท์  และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น (ณัฎฐา แก้วลี และวรวรรณ เหมชะญาติ, 2558) โดยรูปแบบการสื่อสารที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นการใช้สมุดสื่อสาร เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างครูผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นช่องทางการสื่อสารเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และติดตามความก้าวหน้าของเด็ก ซึ่งทำให้ผู้ปกครองและครูหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับทราบพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก และช่วยกันส่งเสริมสิ่งที่ขาดหายไป หรือช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ไข เช่น ในเรื่องพฤติกรรมทางด้านลบ เป็นต้น โดยการเขียนบันทึกพฤติกรรมของเด็กนั้น ควรมีการเขียนอย่างละเอียด แต่ด้วยข้อจำกัดของครูที่มีภาระงานเยอะ เพราะไม่ใช่แค่สอนเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการดูแลงานด้านเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็ก จึงทำให้ไม่สามารถเขียนบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของเด็กได้อย่างละเอียด และครอบคลุมพฤติกรรมของเด็กเท่าที่ควร (ขนิษฐา บุนนาค, 2561)

ศูนย์ความเป็นเลิศการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้บริการเด็กตั้งแต่ อายุ 2 – 5 ปี  ปัจจุบัน มีเด็กที่มารับบริการ จำนวน 281 คน โดยทางศูนย์ความเป็นเลิศการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มีการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ต่อผู้ปกครองโดยจะมีหนังสือแจ้งผู้ปกครอง เช่น การจัดกิจกรรมวันสำคัญ กำหนดชำระค่าเลี้ยงดู ผลการตรวจสุขภาพร่างกาย สุขภาพช่องปากและฟัน ทั้งนี้ ท่านผู้ปกครองต้องเซ็นรับหนังสือกับครูพี่เลี้ยงทุกครั้ง และจะมีสมุดประจำตัวเด็กที่ใช้สื่อสารประจำวัน เพื่อแจ้งเรื่องราวของเด็กเมื่อมาอยู่ศูนย์ความเป็นเลิศการพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น การรับประทานอาหาร นม การพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรม พฤติกรรมที่ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแล โดยผู้ปกครองจะได้รับสมุดประจำตัวและใช้อย่างต่อเนื่อง แต่จากการที่นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงาน ที่ศูนย์ความเป็นเลิศการพัฒนาเด็กปฐมวัย และจากการสัมภาษณ์ครูผู้ดูแลเด็กจำนวน 15  คนและผู้ปกครอง  จำนวน 10 คน พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ 9 คน จาก 10 คน มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ได้แก่  สมุดเสียหาย ขาดความต่อเนื่องในการเขียน อ่านลายมือครูผู้ดูแลเด็กไม่ออก และไม่ทราบว่าครูผู้ดูแลเด็กต้องการทราบข้อมูลใดบ้างจึงไม่ได้เขียนโต้ตอบกลับไปในสมุด ครูผู้ดูแลเด็กมีปัญหาภาระงานมาก เช่น การเตรียมการสอน ภาระงานด้านเอกสารต่าง ๆ ทำให้การเขียนบันทึกสมุดรายงานพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนขาดรายละเอียด ไม่ครอบคลุม และใช้ระยะเวลาในการเขียนบันทึกสมุดนาน ประมาณ 2-5 นาทีต่อเล่ม ซึ่งครูผู้ดูแล 1คน มีเด็กที่ต้องดูแล ประมาณ 15 คน ทำให้ครูผู้ดูแลต้องใช้เวลานานในการเขียนสมุดประจำตัว  ในปัจจุบันมีการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับครูผู้ดูแลเด็กผ่าน Line Group ซึ่งเกิดปัญหา คือ การส่งข้อมูลรวมลงในกลุ่ม ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่เฉพาะของเด็กแต่ละคน ผู้ปกครองต้องการทราบข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับบุตรหลานของตน ทำให้เป็นการรบกวนผู้ปกครองคนอื่น ๆ ทางคณะผู้จัดทำจึงเล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ และได้คิดค้นนวัตกรรมแอปพลิเคชัน “Every Daycare” ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสำหรับการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กระหว่างผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก ให้สามารถติดตามและส่งเสริมพฤติกรรมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกิน การนอน ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยลดภาระงานของครูผู้สอนในการบันทึกพฤติกรรมของเด็กอีกด้วย

วัตถุประสงค์

          เพื่อผลิตนวัตกรรมที่เป็นช่องทางสำหรับการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยระหว่างผู้ปกครองและครูประจำชั้น ที่สามารถใช้ได้สะดวก ประหยัดเวลา