หลักการและเหตุผล

          โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thrombosis ; VTE) เป็นความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับหลอดเลือดดำทั่วร่างกาย  ซึ่งอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ปอด (Pulmonary embolism) เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ ในประเทศทางตะวันตกพบอุบัติการณ์ VTE แตกต่างกันตั้งแต่ 43.7-192.0, 70-140 และ 160-180 ต่อแสนประชากรต่อปี VTE เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตเป็นอันดับ 3 รองจากหลอดเลือด แดงโคโรนารีที่หัวใจอุดตัน และหลอดเลือดสมองอุดตัน นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดความพิการตามมาได้ (วิภา ไพรเถื่อน, 2553) จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 2 ล้านคนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ โดยทุกๆ ปีจะมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว ในโรงพยาบาลด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ และเสียชีวิตปีละ 60,000 คน อุบัติการณ์ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยอุบัติการณ์จะเพิ่มเป็น 2 เท่าในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี (วิระพล  ภิมาลย์ , 2560)

ในประเทศแถบเอเชียพบอุบัติการณ์เกิดการต่ำกว่าประเทศทางตะวันตก ในปัจจุบันประเทศไทยนั้นไม่มีการศึกษา เก็บข้อมูลอุบัติการณ์การเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีการรายผลอัตราการเกิดที่แน่ชัด และข้อมูลที่ได้ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่เกิดการตระหนัก การเผ้าระวัง และการป้องกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้ จากการศึกษาของ ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร พบว่ามีผู้ป่วยขาบวมที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาแบบมีอาการในโรงพยาบาลศิริราช ในปี 2549-2552 พบผู้ป่วยใหม่ปีละ 300 คน ซึ่งในประเทศไทยพบว่าภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนใหญ่จะพบร่วมกับมะเร็ง (ประมาณร้อยละ 20) โดยมะเร็งนรีเวชพบได้บ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 40) จากรายงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2546-2550 พบความชุกของภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่สงูสดุ ร้อยละ 8.01 ส่วนในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก พบร้อยละ 7.47 และมะเร็งปากมดลูก พบร้อยละ 3.29  (สมาคมนรีเวชไทย,2557) และจากการศึกษาในหอผู้ป่วยของรพ.ศิริราช พบว่าหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมพบอัตราการเกิด ร้อยละ 3.6 และในหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม พบร้อยละ 8.82 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม มีอัตราการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันที่มากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยอายุรกรรมต้องใช้ระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลนานกว่า ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นมาก่อนนั้น การจำกัดการเคลื่อนไหวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดกั้นและการหลุดของลิ่มเลือดไปอุดที่หลอดเลือดของปอดได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้สูงอายุ มีโรคร่วม (co-morbidity) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนของหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง โรคมะเร็งและมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวหรือการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยต้องถูกจำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่บนเตียงเป็นเวลานาน   นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) มากกว่า 30 กก./ม.2 หรือระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 175 มก./ ดล. มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (วิภา  ไพรเถื่อน,2553)

จากการศึกษาอุบัติการณ์ข้างต้น ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความสนใจที่จะศึกษาแนวทางการป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันในหลอดเลือด และสนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันในหลอดเลือด และนำไปใช้ในการดูแล ป้องกันกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างที่มีประสิทธิภาพ หรือลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ ลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ที่สำคัญคือการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และเพื่อผลิตนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยในการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
  2. เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในบุคคลที่มีความเสี่ยง

เพื่อศึกษาแนวทางการผลิตนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์