หลักการและเหตุผล

          การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ (Fetal Movement) เป็นสัญญาณแสดงถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทั้งในด้านความแข็งแรงของร่างกาย และความสมบูรณ์ของระบบประสาท รวมทั้งแสดงถึงภาวะสุขภาพของทารกโดยรวม ระบบประสาทของทารกในครรภ์จะพัฒนาอย่างเต็มที่ประมาณสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทของทารกตอบสนองอย่างเป็นระบบ

ทารกจะเคลื่อนไหวถี่มากที่สุดจะอยู่ช่วงสัปดาห์ที่ 29 – 38 โดยปกติการฝากครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์จะได้รับคำแนะนำให้นับการเคลื่อนไหวของลูกหรือนับลูกดิ้นทุกวันจนกระทั่งคลอด เนื่องจากทารกที่มีสุขภาพปกติจะมีการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นที่สม่ำเสมอ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งในระยะ 24 ชั่วโมง การสังเกตและนับการดิ้นของทารกจึงเป็นการประเมินและเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของทารกในครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากหญิงตั้งครรภ์สังเกตและนับการดิ้นของทารกด้วยตนเองทุกวันจะสามารถประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถมาพบแพทย์เพื่อดูแลช่วยเหลือให้ทารกปลอดภัยได้ทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ โดยเฉพาะกรณีทารกในครรภ์มีภาวะคับขัน (Fetal Distress) ซึ่งโดยปกติทารกที่อยู่ในภาวะอันตราย มักจะมีการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นน้อยลง 3 – 4 วัน หรือหลังจากทารกในครรภ์หยุดดิ้น 12 – 24 ชั่วโมง การดิ้นน้อยลงของทารกในครรภ์ ก่อนที่ทารกจะหยุดดิ้นในขณะที่ยังคงฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ได้ เรียกว่า Movement Alarm Sign : MAS (Masoumeh Delaramcorresponding and Lobat Jafarzadeh, 2016) ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่แสดงถึงความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์อาจประสบได้ เช่น การขาดออกซิเจน รกถูกกด หรือพันเป็นปม และในความสำคัญของการนับลูกดิ้นนี้นอกเหนือจากการที่จะเป็นการเฝ้าระวังภาวะอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ได้นั้น ยังมีการศึกษาถึงการนับลูกดิ้นของมารดาที่ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ ลดความกลัวของมารดาที่มีต่อการตั้งครรภ์อีกด้วย ทำให้ไม่เกิดภาวะเครียดของหญิงตั้งครรภ์ส่งผลให้ลดระยะเวลาในการคลอดในระยะที่ 1 ได้ (วันเพ็ญ ไสยมรรคา, 2012) พบว่าการนับลูกดิ้นของทารกทำให้หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิดภาวะเครียด และส่งผลให้ลดระยะเวลาการคลอดในระยะที่ 1 ได้

          กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย โดยกรมอนามัยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับเจ้าหน้าที่และหญิงตั้งครรภ์ใช้ในการบันทึกภาวะสุขภาพในระยะตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด รวมทั้งใช้เป็นคู่มือในการดูแลสุขภาพทารกแรกเกิดไปจนถึงวัยก่อนเรียน เมื่ออายุครบ 6 ปี ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลและเฝ้าระวังภาวะสุขภาพมารดาและทารกในระยะตั้งครรภ์ ได้มีวิธีการและข้อแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์นับและบันทึกการดิ้นของลูกด้วนตนเองทุกวันตั้งแต่ 28 สัปดาห์จนกระทั่งคลอด แต่ยังพบว่าหญิงจำนวนมากที่ไม่ได้บันทึกลูกดิ้นตามคำแนะนำเนื่องจาก บางครั้งมีการนับแต่ไม่ได้นำสมุดบันทึกติดตัวไปด้วยตลอดเวลาจึงไม่ได้บันทึก ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษานำร่องด้วยการใช้แบบสอบถามหญิงตั้งครรภ์จำนวน 10 คน ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไปที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นโดยนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 4 ในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับคำแนะนำให้นับลูกดิ้นจากเจ้าหน้าที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 90 ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เข้าใจวิธีการนับลูกดิ้นคิดเป็นร้อยละ 40 หญิงตั้งครรภ์ที่คิดว่าการนับลูกดิ้นเป็นภาระคิดเป็นร้อยละ 10 หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการตัวช่วยในการนับลูกดิ้นและคอยให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอคิดเป็นร้อยละ 80 นอกจากนั้นจากการสอบถามพยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการแก่หญิงตั้งครรภ์จำนวน 5 คน พบข้อมูลที่เป็นอุปสรรคในการให้คำแนะนำการนับลูกดิ้นแก่หญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ พยาบาลมีเวลาน้อยในการให้คำแนะนำ ซึ่งอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและไม่เข้าใจ ยังขาดสื่อในการให้ความรู้ที่น่าสนใจ การรับรู้ของหญิงตั้งครรภ์มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะต้องไปพบแพทย์ในกรณีที่การดิ้นของทารกในครรภ์มีความผิดปกติ

          จากการค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับรูปแบบหรือแนวปฏิบัติและงานนวัตกรรมต่างๆที่ช่วยส่งเสริมการนับลูกดิ้นที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีการพัฒนาแอพลิเคชั่นต่างๆที่สามารถดาวโหลดได้ฟรีผ่านสมาร์ทโฟนที่เป็นตัวช่วยในการนับลูกดิ้น รวมทั้งการให้คำแนะนำความรู้และการปฏิบัติตัวในช่วงตั้งครรภ์ที่หลากหลาย จากการเปรียบเทียบแอพลิเคชั่นที่นำมาใช้ในช่วงฝากครรภ์ทั้งหมด 24 แอพลิเคชั่น พบว่ามีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นส่วนมาก ส่วนที่เกี่ยวกับการนับลูกดิ้นยังขาดการให้ข้อมูลความรู้และความสำคัญของการนับลูกดิ้น การที่ลูกดิ้นลดลงสำคัญอย่างไร นอกจากนั้นแอพลิเคชั่นส่วนใหญ่มีความซับซ้อน เข้าใจยาก ไม่สะดวกในการใช้งาน มีคำแนะนำการนับลูกดิ้นเพียงวิธีเดียวคือแบบ Sadovsky ซึ่งเป็นการนับลูกดิ้นวันละ 3 ครั้งหลังมื้ออาหาร 1 ชั่วโมงวันละ 3 เวลา ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดสำหรับหญิงตั้งครรภ์บางคนที่อาจจะไม่สะดวกนับ 3 เวลาหลังอาหาร และแอพลิเคชั่นส่วนมาก ยังขาดการให้ข้อมูลแหล่งช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดความผิดปกติที่ต้องรีบไปพบแพทย์

          กลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรม จึงมีความสนใจที่จะพัฒนา Baby Kick Bot ซึ่งเป็นโปรแกรม Chatbot ที่หญิงตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงได้ผ่านไลน์ โดยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อใช้นับและบันทึกการดิ้นของทารกในครรภ์ด้านตนเองโดยสามารถใช้ได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน สะดวกในการพกพา ลดความยุ่งยากในการที่จะต้องบันทึกการดิ้นของทารกลงในสมุดบันทึก จุดเด่นของ Chatbot คือ เป็นแอพลิเคชั่นที่ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน มีการตอบโต้กับผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ (Woods & Abdul-Kader, 2015) สามรถแจ้งเตือนเพื่อป้องกันหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ลืมนับลูกดิ้น และมีรูปแบบวิธีการนับที่ใช้ง่ายและสะดวกสบายต่อหญิงตั้งครรภ์มากขึ้น และสามารเชื่อมต่อสายด่วน 1669 ในกรณีที่ต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อเกิดความผิดปกติ รวมทั้งมีข้อมูลความรู้และคำแนะนำที่จำเป็นในการดูแลตนเองระยะตั้งครรภ์ ได้แก่ พัฒนาการทารก การเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงการเตรียมตัวในการคลอด ซึ่งกลุ่มพัฒนาแอพลิเคชั่นควาดหวังว่า โปรแกรมนี้จะช่วยให้หญิงตั้งครรภ์สามารถนับลูกดิ้นได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้หญิงตั้งครรภ์เห็นความสำคัญในการที่ต้องนับลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นการส่งเสริมคุณภาพในการดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์ ตามนโยบายลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีความพร้อมและความมั่นใจตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ดี

วัตถุประสงค์   

  1. เพื่อพัฒนาแอพลิเคชั่น Baby Kick Bot ให้เป็นทางเลือกในการนับลูกดิ้น
  2. เพื่อสร้างสื่อในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ที่ทันสมัยและง่ายต่อการเข้าถึง