หลักการและเหตุผล 

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและขยายตัว อย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทําให้คนในสังคมต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถดําเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความรู้ที่จะสามารถป้องกันตัวเองจากผลกระทบ ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้  และสภาพความเป็นอยู่ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางแรง กดดันทุกทิศทาง มีการแข่งขันทางด้านการศึกษา และการทำงาน ต่างคนต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ชีวิต สามารถดำเนินไปได้ ความคาดหวังของตนเองที่สูงขึ้นเกี่ยวกับการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมถึงความคาดหวังจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกดดันที่จะนำไปสู่ความเครียดและความวิตก กังวล ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางสภาพ แวดล้อมและสังคม จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาทาง ด้านสุขภาพจิตตามมา นั่นก็คือ ความเครียดและภาวะซึมเศร้า (ศิริวัฒน์วัฒนสินธุ์, 2553)

ความเครียด เป็นภาวะตอบสนองของร่างกายหรือจิตใจต่อสิ่งที่มาคุกคามแล้วทำให้เกิดภาวะความไม่ สมดุลขึ้นโดยแสดงออกทั้งด้านร่างกาย จิตใจและความคิด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บุคคลรับรู้ หรือประเมินสิ่งที่ผ่านเข้ามาในประสบการณ์ของตนว่าเป็นสิ่งที่คุกคามร่างกายและ จิตใจ ทำให้เกิดการดึงกลไกการป้องกันตนเองมาใช้ เพื่อทำให้ความรู้สึกถูกกดดันหรือความเครียด เหล่านั้นคลายลง และกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง (จิราพร หินทอง, 2551; Lazarus & Folkman, 1984)

ภาวะซึมเศร้าเป็นอารมณ์ด้านลบ มีอารมณ์ หดหู่ เศร้าหมอง รู้สึกไม่มีความสุข ท้อแท้ในชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะนำไปสู่ การเป็นโรคซึมเศร้าได้ (ฉวีวรรณ  สัตยธรรม ,2549)

 จากสถิติพบว่าทั่วโลกมี ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน ส่วนใหญ่ พบในเพศหญิงและเกิดผลกระทบมากกว่า เพศชาย และยังนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด (World Health Organization [WHO], 2015)

นอกจากนี้ก็ยังพบปัจจัยที่น่าสนใจอื่นๆ เช่นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จก็พบว่ามีปัจจัยด้านโรคซึมเศร้า(กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล,2562)

การเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจาก นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ต้องเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ถือว่าเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงจากวัยรุ่นสู่ วัยผู้ใหญ่ เป็นช่วงของการเรียนรู้ในหลายๆ ด้านไม่ใช่แค่วิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการ ทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าตามมาได้ในที่สุด(ไขนภา แก้วจันทร์, 2542)

จากการทบทวนวรรณกรรม (จุฑารัตน์ สถิรปัญญา,วิทยา เหมพันธ์,2556) ได้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบระดับความเครียดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่า ความเครียดของกลุ่มตัวอย่างจากการทบทวนวรรณกรรม เป็นหญิงมากกว่าชายประมาณ 3 เท่า ศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติ ร้อยละ 73.3 ปริญญาตรีภาคสมทบ ร้อยละ 13.9 ศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 22.8,22.4, 20.6, 18.0 ตามลำดับ) ร้อยละ 57.6 ของกลุ่มตัวอย่าง มีความเครียดในระดับสูง ร้อยละ 22.1 เครียดระดับรุนแรง และร้อยละ 19.1 เครียดระดับปานกลาง ความเครียดในระดับเล็กน้อยพบร้อยละ 1.2 ชายและหญิงมีความเครียดไม่แตกต่างกัน ทุกระดับการศึกษามีความเครียดในระดับสูง ระดับความเครียดจากสูงไปต่ำ พบดังนี้ คณะนิติศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ศิลปกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และ สุขภาพและการกีฬา

(สุกัญญา รักษ์ขจีกุล,2556) ได้ทำการศึกษาภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ในนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ผลการศึกษา พบว่า ความชุกของภาวะซึมเศร้าในนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เท่ากับ ร้อยละ 24.0 อุบัติการณ์การทำร้ายตนเองหรือการพยายามฆ่าตัวตายของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรในช่วงตลอดชีวิตที่ผ่านมา พบว่า มีนิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ร้อยละ 6.4 และเป็นผู้ที่เคยทำร้ายตนเองมาก่อน ร้อยละ 12.1 สาเหตุของการทำร้ายตนเองมากที่สุด คือ การมีปัญหาทะเลาะกับคนใกล้ชิด เพื่อน หรือแฟน ปัญหาการเรียน และปัญหาผิดหวังในความรัก หึงหวง วิธีการที่ใช้ทำร้ายตนเองของนิสิตที่พยายามฆ่าตัวตายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือการรับประทานยาเกินขนาด เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ รองลงมาเป็นการใช้มีดกรีดข้อมือ

เมื่อต้นปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เกิดเหตุนักศึกษากระโดดตึกลงมาจากชั้นที่ 9 เป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยคนที่ก่อเหตุเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงเล็งเห็นความสำคัญของความเครียดและภาวะซึมเศร้าในกลุ่มของนักศึกษากลุ่มนี้

ในยุคโลกาภิวัตน์การใช้เทคโนโลยีมือถือกำลังแพร่หลายไปทั่วโลกโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้มีผู้คนราว 2.2 พันล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเครือข่ายมือถือได้ (Claire Thwaites, 2009) นอกจากนี้ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดสมาร์ทโฟน การใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือเพื่อสุขภาพหรือ M-Health (Mobile Health) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงสุขภาพได้ จากผลการศึกษาวิจัยชิ้นล่าสุดของบริษัทผู้วิจัยด้านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Research Company) ชื่อ research2guidance กล่าวว่า ภายในปี 2015 นั้นจะมีคนจำนวนมากกว่า 5.0 ร้อยล้านคนใช้ Application ในมือถือในการดูแลสุขภาพของตน นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า M-Health หรือ Mobile Health จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น แอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับความนิยมเนื่องจากสะดวกและสามารถรับข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว รวมถึงเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ได้อีกด้วย คณะผู้จัดทำจึงเลือกแอปพลิเคชันมือถือสำหรับความเครียดและภาวะซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มตัวอย่างสามารถคัดกรองสภาพจิตใจเรื่องความเครียดและภาวะซึมเศร้าของพวกเขาผ่านแอพนี้ได้ตลอดเวลา แอปพลิเคชั่นมือถือนี้ยังให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองเกี่ยวกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้เป็นเพียงสื่อกลางที่จะพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับความเครียดและภาวะซึมเศร้าต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนานวัตกรรม “การศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองการเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า”
  • เพื่อประเมินผลของการใช้งานแอพพลิเคชั่น ได้แก่ การคัดกรอง  ความรู้  และประโยชน์ที่จะได้รับ  เกี่ยวกับภาวะเครียดและซึมเศร้า